วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ประเพณีและวัฒนธรรมของแต่ละภาคในประเทศไทย

ประเพณีและวัฒนธรรมของแต่ละภาคในประเทศไทย

     วัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นมีมากมายและครอบคลุมการดำเนินชีวิตทุกด้านของผู้คนที่อาศัยในท้องถิ่นแห่งนั้นๆ ทั้งทางด้านอาหาร เครื่องแต่งกาย ที่อยู่อาศัย ศิลปะ ศาสนา และลัทธิความเชื่อ ยารักษาโรค ประติมากรรมหัตถกรรม และการดำรงชีวิตตามสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เป็นต้น
ในที่นี้จะกล่าวได้เพียงตัวอย่างบางด้าน เพื่อนักเรียนใช้เป็นแนวทางในการสืบค้นหาความรู้ด้านวัฒนธรรมในท้องถิ่นต่อไป

วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคเหนือ

(การฟ้อนเล็บ วัฒนธรรมภาคเหนือ)


 เป็นวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะวัฒนธรรมของชาวล้านนาที่ยังคงยึดมั่นในขนบธรรมประเพณีของพระพุทธศาสนา ที่แสดงออกถึงมิตรไมตรีและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกน มีการสืบทอดมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน จึงถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งที่คนคนท้องถิ่นในภาคเหนือยังรักษาไว้จนถึงปัจจุบัน ในที่นี้จะกล่าวถึงตัวอย่างวัฒนธรรมที่สำคัญ

                    1.ด้านอาหาร โดยตัวอย่างของวัฒนธรรมในด้านนี้ ได้แก่ ระเพณีเลี้ยงข้าวแลงขันโตกหรือกิ๋นข้าวแลงขันโตก เป็นประเพณีของชาวล้านนา ผู้ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดทางภาคเหนือตอนบนและใช้ภาษไทยเหนือเป็นภาพูด มีการตกแต่งสถานที่อย่างสวยงามมีอาหารภาคเหนือมากมายหลายชนิด เจ้าภาพเหรื่อจะแต่งกายแบบพื้นเมืองทั้งชายหญิง งานเลี้ยงขันโตกจะเริ่มด้วยขบวนแห่นำขบวนขันโตกด้วยสาวงามช่างฟ้อน ตามมาด้วยคนหาบกระติบหลวง ขบวนแห่นี้จะผสมผสานกับเสียงดนตรีโห่ร้องแสดงความชื่นชมยินดี เมื่อมาถึงงานเลี้ยงแล้วก็จะนำกระติบหลวงไปวางไว้กลางงานแล้วนำข้าวนึ่งในกระติบแบ่งปันใส่กระติบเล็กๆแจกจ่ายไปตามโตกต่างๆ จนทั่วบริเวณงาน ซึ่งมีโตกใส่สำหรับกับข้าวเตรียมไว้ก่อนแล้ว อาหารที่เลี้ยงกันนั้นนอกจากจะมีข้าวนึ่งเป็นหลักแล้ว ก็มีกับข้าวแบบของชาวเหนือ คือ แกงฮังเล แกงอ่อม แกงแค ไส้อั่ว น้ำพริก อ่อง น้ำพริกหนุ่ม แคบหมู ผักสด และของหวาน เช่น ขนมปาด ข้าวแต๋น เป็นต้น
                    2.ด้านศาสนาและลัทธิความเชื่อ  ตัวอย่างวัฒนธรรมในด้านนี้  ได้แก่ งานทำบุญทอดผ้าป่าแถว  งานทำบุญตานก๋วยสลากหรือ การทำบุญสลากภัต (ทานสลาก)  ประเพณีการสืบชะตา เป็นต้น

     1.  การทำบุญทอดผ้าป่าแถว จะกระทำกันในเขตตัวอำเภอและอำเภอรอบนอกของจังหวัดกำแพงเพชร  โดยกระทำพร้อมกันทุกวัดในคืนวันลอยกระทงหรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12  โดยชาวบ้านแต่ละครอบครัวเรือนจะจัดหากิ่งไม้  เทียนไข ผ้า ข้าวสาร อาหารแห้ง ผลไม้ และบริขารของใช้ต่าง ๆ พอตกกลางคืนเวลาราว 19.00 น.  ชาวบ้านจะนำองค์ผ้าป่าไปไว้ในลานวัด  จัดให้เป็นแนวเป็นระเบียบแล้วนำผ้าพาดบนกิ่งไม้  นำเครื่องไทยธรรมที่เตรียมไว้มาวางใต้กิ่งไม้พอถึงเวลามรรคนายกวัดจะป่าวร้องให้เจ้าของผ้าป่าไปจับสลากรายนามพระภิกษุ เมื่อได้นามพระภิกษุแล้วเจ้าของผ้าป่าจะเอามากลัดติดไว้กับผ้าที่ห้อยอยู่บนกิ่งไม้ของตน  และพากันหลบไปแอบอยู่ในเงามืดเฝ้ารอดูด้วยความสงบว่าพระภิกษุรูปใดจะมาชักผ้าป่าของตน  เมื่อพระภิกษุชักผ้าป่าเรียบร้อยแล้ว  พระภิกษุทุกรูปจะไปนั่งรวมกันแล้วให้ศีลเจริญพระพุทธมนต์  อวยพร  เมื่อเสร็จสิ้นเสียงพระสงฆ์  มหรสพต่าง ๆ  จะทำการแสดงทันที

     2.งานทำบุญตานก๋วยสลากหรือการทำบุญสลากภัต (ทานสลาก) จะทำในช่วงวันเพ็ญเดือน 12 (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12) ถึงเดือนเกี๋ยงดับ (วันแรม 15 ค่ำ เดือน 12) หรือราวเดือนตุลาคม – พฤศจิกายนของทุกปี  ชาวเหนือหรือชาวล้านนาไทยจะทำบุญตานก๋วยสลากหรือกิ๋นก๋วยสลาก  โดยวันแรกแต่ละครอบครัวหรือคณะศรัทธาจะเตรียมงานต่าง ๆ หรือเรียกว่า “วันดา”  ผู้หญิงจะไปจ่ายตลาดหาซื้อของ  ส่วนผู้ชายจะเหลาตอกสานก๋วยไว้หลาย ๆ  ใบจากนั้นนำมากรุด้วยใบตองหรือกระดาษปิดมัดก๋วยรวมกันเป็นมัดๆ สำหรับเป็นที่จับ  ตรงส่วนที่ราบไว้นี้ชาวบ้านจะเสียบไม้ไผ่และสอดเงินไว้เป็นเสมือนยอด  ก๋วยสลากมี 2 ชนิด คือ ก๋วยเล็กจะมียอดเงินไม่มากนักใช้เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ผีปู่ย่าตายายที่ล่วงลับหรืออุทิศส่วนกุศลเพื่อตนเองในภายภาคหน้า  ส่วนอีกชนิดหนึ่งเป็นก๋วยใหญ่  เรียกว่าสลากโจ้ก (สลากโชค)  ส่วนมากจะจัดทำขึ้น  เพื่อให้อานิสงส์เกิดแก่ตนเอง  ในภพหน้าจะได้มีกินมีใช้  มั่งมีศรีสุขเหมือนในชาตินี้ งานทำบุญตานก๋วยสลากหรืองานบุญสลากภัตมีคติสอนใจให้คนเรารู้จักรักใคร่สามัคคีกัน  เกิดความปรองดองในหมู่ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน  ขณะเดียวกันในทางคติธรรมจะมีคติสอนใจพระสงฆ์และสามเณรมิให้ยึดคติในลาภลักการะทั้งหลาย  โดยเฉพาะก๋วยสลากที่ญาติโยมนำมาถวายนั้นอาจมีเล็กบ้างใหญ่บ้าง  มีเงินมากน้อยต่างกัน  การจับสลากจึงยังผลให้พระสงฆ์รู้จักตัดกิเลส  การทำบุญโดยไม่เจาะจงพระผู้รับสิ่งบริจาคนี้  ถือเป็นการทำความดีเพื่อความดีจริง ๆ ตามอุดมการณ์  เพื่อความสุขของจิตใจโดยแท้

    3.งานประเพณีการสืบชะตาหรือการต่ออายุ ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนากระทำขึ้นเพื่อยืดชีวิตด้วยการทำพิธีเพื่อให้เกิดพลังรอดพ้นความตายได้  เป็นประเพณีที่คนล้านนานิยมกระทำจนถึงทุกวันนี้  ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ประเพณีการสืบชะตาคน  ประเพณีการสืบชะตาบ้าน  และสิบชะตาเมือง

ประเพณีของภาคเหนือ

(ประเพณียี่เป็ง)


ในพงศาวดารโยนกและจามเทวี ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับประเพณียี่เป็งเอาไว้ว่า ครั้งหนึ่งเมื่อบ้านเมืองเกิดภัยร้ายแรงด้วยโรคอหิวาตกโรคขึ้นที่แคว้นหริภุญไชย ชาวเมืองล้มตายเป็นจำนวนมาก ทำให้ชาวเมืองที่เหลือต้องอพยพไปอยู่เมืองหงสาวดีนานถึง 6 ปี จึงกลับคืนสู่บ้านเมืองเดิม ครั้นถึงเวลาเวียนมาบรรจบครบวันที่ต้องจากบ้านเมืองไป จึงได้ทำพิธีรำลึกถึงญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วด้วยการทำกระถางใส่เครื่องสักการบูชา ธูปเทียนลอย แล้วนำไปลอยตามน้ำ เรียกว่า การลอยโขมดหรือลอยไฟ นั่นจึงเป็นที่มาของประเพณียี่เป็งที่มีมาจนถึงทุกวันนี้

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับประเพณียี่เป็ง


          ยี่เป็ง มาจากคำว่า ยี่  ซึ่งแปลว่า สอง ส่วนคำว่า เป็ง มาจากคำว่า เพ็ญ ประเพณียี่เป็งจึงเป็นประเพณีที่จัดขึ้นในวันเพ็ญเดือนสิบสอง

วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคกลาง

(การรำเกี่ยวข้าว วัฒนธรรมภาคกลาง)



วัฒนธรรมท้องถิ่น  ภาคกลางส่วนใหญ่เป็นวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกันกับวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคเหนือ  แต่มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปบ้าง  เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ สังคม และค่านิยมในท้องถิ่นที่แตกต่างกัน  ลักษณะวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีโดยรวมมีความเกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมในพระพุทธศาสนา  และพิธีกรรมเกี่ยวกับคามเชื่อในการดำเนินชีวิต  ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของวัฒนธรรมไทย  ตัวอย่างของวัฒนธรรมทางภาคกลางที่สำคัญ  มีดังนี้

1.ด้านศาสนาและลัทธิความเชื่อ เช่น  ประเพณีการรับบัวโยนบัว  การบูชารอยพระพุทธบาทเป็นต้น

2.ด้านที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตทางการเกษตร  ได้แก่

    การทำขวัญข้าวเป็นประเพณีที่ยังคงทำกันอย่างกว้างขวางในหมู่ของคนไทยภาคกลาง   ไทยพวน  และไทยอีสานทั่วไป  โดยจะนิยมทำกันเป็นระยะ  คือ  ก่อนข้าวออกรวง

3.ด้านยาและการรักษาพื้นบ้าน  จากการศึกษาค้นคว้าและรวบรวมตำรายาพื้นบ้านในจังหวัดชลบุรี  โดยได้มีการสัมภาษณ์แพทย์แผนโบราณ  และค้นคว้าจากตำราที่บันทึกอยู่ในใบลาน  สมุดข่อยขาว สมุดข่อยดำ  พบว่ามีตำรายาไทยแผนโบราณทั้งหมด 318 ขนาน  ที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบันมี 138 ขนาน

ประเพณีของภาคกลาง

(ประเพณีรับบัว)


"การเป็นผู้มีน้ำใจไมตรี" เป็นลักษณะเด่นของคนไทยประการหนึ่ง เราคงไม่ปฏิเสธกันว่าคนไทยเป็นผู้ที่ร่ำรวยน้ำใจ ยากที่จะหาประชากรในประเทศใดในโลกเทียมได้ แม้แต่ชาวต่างประเทศก็ยอมรับในความมีน้ำใจไมตรีของคนไทยเช่นกัน จนได้ให้สมญาประเทศไทยว่า "สยามเมืองยิ้ม" ดังเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วนั่นเอง และชาวอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการมีสิ่งหนึ่งที่ช่วยยืนยันถึงความเป็นผู้มีน้ำใจไมตรีของคนไทยเช่นกัน สิ่งนั้นคือมรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษของชาวบางพลีได้มอบไว้ให้ลูกหลานของตน นั่นคือ "ประเพณีรับบัว" ประเพณีรับบัว เป็นประเพณีเก่าแก่ที่เกิดและจัดขึ้นในอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มาช้านานแต่เพิ่งปรากฏหลักฐานในราว พ.ศ. ๒๔๖๗ ว่าเดิมจัดในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี และจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ชาวอำเภอบางพลี ได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับประเพณีรับบัวว่า "ในสมัยก่อนโน้น อำเภอบางพลี มีดอกบัวมากมายตามลำคลอง หนองบึงต่างๆเป็นที่ต้องการของพุทธศาสนิกชน ในอันที่จะนำไปบูชาพระ เหตุที่เกิดประเพณีรับบัว เกิดจากชาวอำเภอพระประแดง และชาวอำเภอเมืองสมุทรปราการ ที่เป็นชาวมอญ ต้องการนำดอกบัวไปบูชาพระคาถาพันและบูชาพระในเทศกาลออกพรรษา ดังนั้นเมื่อถึงวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ประชาชนทั้งสองอำเภอนี้ ได้ชักชวนกันพายเรือมาตามลำคลองสำโรงเพื่อมาเก็บดอกบัว เมื่อเก็บได้เพียงพอแล้วก็จะเดินทางกลับบ้านของตนในวันรุ่งขึ้น (ขึ้น ๑๔ ค่ำ) ต่อมาชาวอำเภอบางพลี มีน้ำใจที่จะอำนวยความสะดวกให้ในฐานะที่ตนเป็นเจ้าของบ้าน เมื่อถึงวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี ก็จะร่วมแรงร่วมใจกันเก็บดอกบัวและเตรียมอาหารคาวหวานไว้เพื่อรอรับชาวอำเภอพระประแดงและชาวอำเภอเมืองฯ เช้าตรู่ของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ขบวนเรือพายของชาวอำเภอพระประแดงและชาวอำเภอเมืองฯก็จะมาถึงหมู่บ้านบางพลีใหญ่ เมื่อรับประทานอาหารที่ชาวอำเภอบางพลีเตรียมไว้ต้อนรับจนอิ่มหนำสำราญดีแล้ว ก็จะพายเรือไปตามลำคลองสำโรง เพื่อขอรับดอกบัวจากชาวอำเภอบางพลีทั้งสองฝั่งคลอง การส่งมอบดอกบัวจะทำกันอย่างสุภาพ คือส่งและรับบัวกันมือต่อมือ โดยผู้ให้และผู้รับพนมมือตั้งจิตอธิษฐานอนุโมทนาผลบุญร่วมกัน การกระทำเช่นนี้เองจึงได้ชื่อว่าการ "รับบัว" เมื่อปฏิบัติติดต่อกันหลายๆปี จึงได้กลายเป็น "ประเพณีรับบัว" ไปในที่สุด" นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๘ ถึงปัจจุบัน

วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

(การเซิ้งบั้งไฟ)


    ชนพื้นเมืองถิ่นอีสานดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย  มีโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์บนพื้นฐานประวัติศาสตร์อันยาวนาน  วัฒนธรรมต่าง ๆ   ของภาคอีสานเป็นการนำแนวความคิด  ความศรัทธา  และความเชื่อที่ได้สั่งสมและสืบทอดเป้นมรดกต่อกันมา  ตัวอย่างวัฒนธรรมในด้านต่างๆ มีดังนี้

1.ด้านอาหาร  วัฒนธรรมเกี่ยวกับพืชผักและกรรมวิธีในการปรุงอาหารของชาวอีสานพบว่า  พืชผักพื้นบ้านที่ชาวบ้านบริโภคมีจำนวน  99  ชนิด  แบ่งออกเป็นพืชน้ำ 10 ชนิด  พืชบก 89 ชนิด  พืชเหล่านี้มีบริโภคตลอดปี 57 ชนิด  ส่วนที่เหลือเป็นพืชผักตามฤดูกาลพืชผักดังกล่าว  กองโภชนาการ  กระทรวงสาธารณสุขได้วิเคราะห์สารอาหารแล้วจำนวน 44 ชนิด ซึ่งต่างให้คุณค่าทางโภชนาการมากมาย  บางชนิดเป็นยาสมุนไพรสามารถป้องกันรักษาโรคภัยต่างๆ ได้

2.ด้านศาสนาและลัทธิความเชื่อ เช่น บุญบั้งไฟ  การแห่ผีตาโขน  เป็นต้น

บุญบั้งไฟ เป็นประเพณีสำคัญของชาวอีสาน  นิยมทำในงานเทศกาลเดือนห้าฟ้าหก (ราวเดือนเมษายน-พฤษภาคมของปี)  ในช่วงนี้ชาวนาจะเตรียมไถนาจึงขอให้ฝนตกจากความเชื่อในเรื่องของสิ่งลี้ลับและเทวดาหรือพญาแถนที่อยู่บนสวรรค์  สามารถบันดาลให้ฝนตกฟ้าร้องได้  จึงมีการจัดพิธีบูชาพญาแถนทุกปีด้วยการทำบั้งไฟ

3.ด้านที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตทางการเกษตร ได้แก่  งานบุญคูนลานเมื่อชาวนาในพื้นถิ่นอีสานเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ  ก็จะมัดข้าวที่เกี่ยวเป็นฟ่อน  และนำฟ่อนข้าวมารวมกองไว้ที่ลานเพื่อนวด  และเมื่อนวดข้าวเสร็จก็นิยมทำกองข้าวที่นวดให้สูงขึ้นจากพื้นลานเรียกว่า “คูนลาน”  ผู้ที่ได้ข้าวมากก็มักจะจัดทำบุญกองข้าวที่นวดให้สูงขึ้นจากพื้นลานเรียกว่า “คูนลาน”  ผู้ที่ได้ข้าวมากก็มักจะจัดทำบุญกองข้าวขึ้นที่ลาน

วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้

(การรำโนรา)


ภาคใต้มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน  เป็นแหล่งรับอารยธรรมจากพระพุทธศาสนา
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู  และศาสนาอิสลาม ซึ่งได้หล่อหลอมเข้ากับความเชื่อดั่งเดิม  ก่อให้เกิดการบรูณาการเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้

1.ด้านอาหาร  ได้แก่  ประเพณีกินผักหรือที่ชาวบ้านและชาวจีนที่อยู่ในจังหวัดภูเก็ตเรียกกันว่า  “เจี๊ยฉ่าย” เป็นประเพณีที่คนจีนนับถือมาช้านาน  โดยเฉพาะคนจีนฮกเกี้ยนวันประกอบพิธีจะตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนของทุกๆ ปี

2.ด้านศาสนาและลัทธิความเชื่อ เช่น ประเพณีลากพระ ประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นต้น

ประเพณีลากพระ  ชักพระ  หรือแห่พระ  ชาวใต้ปฏิบัติกันมานานตั้งแต่ครั้งโบราณกาล  ชาวบ้านที่เป็นพุทธศาสนิกชนจะพร้อมใจกันอัญเชิญพระพุทธรูปจากวัดขึ้นประดิษฐานบน  “นมพระ” หรือบุษบกที่วางอยู่ตรงกลางร้านไม้  ร้านไม้นี้จะวางไว้บนไม้ขนาดใหญ่สองท่อนอีกทีหนึ่ง หรือใช้นมพระวางบนล้อเลื่อน รถ หรือเรือ แล้วลากหรือชักแห่ไปตามถนนหนทางตามแม่น้ำลำคลอง  หรือริมฝั่งทะเล  เคยมีผู้สันนิษฐานว่าประเพณีลากพระเกิดขึ้นในประเทศอินเดียตามลัทธิของพราหมณ์ที่นิยมเอาเทวรูปออกแห่แหนในโอกาสต่างๆ  และชาวพุทธได้นำเอาประเพณีนั้นมาดัดแปลง

3.ด้านศิลปะ  ได้แก่  การรำโนราซึ่งเป็นศิลปะพื้นบ้านที่เก่าแก่ของภาคใต้  โดยนอกจากจะแสดงเพื่อความบันเทิงแล้วยังแสดงเพื่อประกอบพิธีกรรมที่เรียกว่า โนรา  โรงครูหรือโนราลงครู  อีกด้วย  พิธีกรรมนี้มีจุดมุ่งหมายในการจัดเพื่อไหว้ครูหรือไหว้ตายายโนรา  อันเป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อครู  เพื่อทำพิธีแก้บน  เพื่อทำพิธียอมรับเป็นศิลปินโนราคนใหม่  และเพื่อประกอบพิธีเบ็ดเตล็ดต่างๆ



                    


 ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ และศาสนา  ที่มีอยู่ในแต่ละท้องถิ่นเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นที่มีอยู่ในภูมิภาคนั้น ๆ  จึงถือเป็นหัวข้อที่น่าศึกษา  เพราะหากคนไทยและเยาวชนไทยตระหนักและเรียนรู้วัฒนธรรมไทย  จะก่อให้เกิดความสำนึกและความภูมิใจในความเป็นไทยอันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ร่วมกัน  และพัฒนาให้ทั่วทุกภูมิภาคของไทยเจริญรุ่งเรืองต่อไปได้


ที่มา : https://sites.google.com/site/30279get/home/wathnthrrm-tang-ni-phumiphakh-khxng-thiy
ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/ประเพณีรับบัว
ที่มา : https://www.google.co.th/imghp
ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=p54iGzTsPAg


สมาชิกในกลุ่ม                                   หน้าที่

                                เด็กชายชัยณัฐ  ชาญสมร เลขที่ 4                    สืบค้นข้อมูล 
                                เด็กชายศรศิลป์  แก้วใสแสง เลขที่ 9                สืบค้นข้อมูล
                                เด็กหญิงพรนิตา  ย่างกุ้ง เลขที่ 23                    ตกแต่งบล็อก  (รองประธาน)
                                เด็กหญิงมัทรี  มาแขก เลขที่ 29                       ตกแต่งบล็อก  (ประธาน)
                                เด็กหญิงวิภาวดี  ดียามา เลขที่ 33                     สร้างบล็อก    (รองประธาน)


1 ความคิดเห็น: